แง่มุมทางการเมือง การใช้สอย และการเงิน ของ สถานีอวกาศนานาชาติ

แง่มุมทางกฎหมาย

  ชาติให้การสนับสนุนหลัก
  ชาติที่ได้รับติดต่อจากองค์การนาซา

สถานีอวกาศนานาชาติเป็นโครงการร่วมระหว่างองค์การอวกาศของประเทศต่างๆ หลายประเทศ ซึ่งประกอบด้วย องค์การนาซา ของสหรัฐอเมริกา, องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (RKA), องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA), องค์การอวกาศแคนาดา (CSA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) [108]

ในฐานะที่เป็นโครงการระหว่างประเทศ แง่มุมทางกฎหมายและทางการเงินของสถานีอวกาศนานาชาติจึงค่อนข้างซับซ้อน ประเด็นที่ข้องเกี่ยวเช่น ความเป็นเจ้าของโมดูล การใช้สอยสถานีโดยชาติร่วมโครงการ และความรับผิดชอบต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานี เอกสารทางกฎหมายหลักซึ่งใช้ระบุกฎเกณฑ์และสิทธิระหว่างผู้ร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติคือ ข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลของสถานีอวกาศ (Space Station Intergovernmental Agreement (IGA)) สนธิสัญญาระหว่างประเทศชุดนี้ลงนามเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1998 โดยชาติเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกับโครงการสถานีอวกาศ คือสหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา และประเทศสมาชิกองค์การอวกาศยุโรปอีก 10 ประเทศ (เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, สเปน, และสวิตเซอร์แลนด์) [22] นี่เป็นจุดตั้งต้นของข้อตกลงในระดับที่สอง เรียกชื่อว่า ข้อตกลงความเข้าใจ (Memoranda of Understanding (MOU)) ระหว่างองค์การนาซากับ ESA, CSA, RKA และ JAXA ต่อมาข้อตกลงนี้ได้แบ่งย่อยออกไปอีก เช่น สัญญาระบุหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ การแลกสิทธิและหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศร่วมโครงการ[22] หลักเกณฑ์การใช้งานโมดูลในวงโคจรของรัสเซียก็ทำข้อตกลงในระหว่างขั้นตอนนี้[23]

นอกเหนือจากข้อตกลงหลักระหว่างรัฐบาลนานาชาตินี้แล้ว ประเทศบราซิลยังมีสัญญากับองค์การนาซาในการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ และนาซ่าจะส่งชาวบราซิลหนึ่งคนขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ[109] ประเทศอิตาลีก็มีสัญญาลักษณะคล้ายคลึงกันนี้กับองค์การนาซาในการให้บริการลักษณะเดียวกัน แม้ว่าอิตาลีจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอยู่แล้วในฐานะประเทศสมาชิกของ ESA[110] ประเทศจีนก็แสดงความสนใจในโครงการนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกันกับองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างไรก็ดี นับถึง ค.ศ. 2009 ประเทศจีนยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาออกเสียงคัดค้าน[111][112]

สิทธิการใช้งาน

สัดส่วนการใช้สอยส่วนประกอบสถานีอวกาศที่เป็นของสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ

ส่วนประกอบสถานีอวกาศที่เป็นของรัสเซีย ดำเนินการภายใต้การควบคุมขององค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย และทำให้รัสเซียมีสิทธิถึงครึ่งหนึ่งในเวลาปฏิบัติการของลูกเรือของสถานีอวกาศทั้งหมด (จำนวนลูกเรือถาวรมีได้ 6 คน โดยเฉลี่ย 2-3 คนจะเป็นบุคลากรในการจัดการของรัสเซีย) การจัดการเวลาปฏิบัติการของลูกเรือ (คือ 3-4 คนจากจำนวนลูกเรือถาวร 6 คน) และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ในส่วนอื่นๆ ของสถานีอวกาศได้รับการจัดสรรดังต่อไปนี้

  • โมดูลโคลัมบัส : 51% สำหรับ ESA, 46.7% สำหรับ NASA, และ 2.3% สำหรับ CSA[22]
  • ห้องทดลองคิโบ : 51% สำหรับ JAXA, 46.7% สำหรับ NASA, และ 2.3% สำหรับ CSA[95]
  • โมดูลเดสทินี : 97.7% สำหรับ NASA และ 2.3% สำหรับ CSA[113]
  • เวลาของลูกเรือ, พลังงานไฟฟ้า และสิทธิในการซื้อบริการสนับสนุน (เช่นการอัปโหลดหรือดาวน์โหลดข้อมูล และการสื่อสาร) แบ่งเป็น 76.6% สำหรับ NASA, 12.8% สำหรับ JAXA, 8.3% สำหรับ ESA, และ 2.3% สำหรับ CSA[22][95][113]

ค่าใช้จ่าย

ตัวเลขที่ใช้อ้างอิงกันมากที่สุดในการประมาณการรายจ่ายรวมทั้งหมดของสถานีอวกาศ อยู่ที่ระหว่าง 35,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[114] องค์การอวกาศยุโรป (ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่จัดทำประมาณการตัวเลขรวมของโครงการ) ได้ประมาณว่าค่าใช้จ่ายสำหรับสถานีอวกาศทั้งหมดตลอดระยะเวลาใช้งาน 30 ปี จะอยู่ที่ราว 100,000 ล้านยูโร[24] ทว่าการระบุค่าใช้จ่ายประมาณการอย่างแม่นยำนั้นทำได้ยาก เพราะไม่อาจคาดได้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเกิดกับโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ หรือจะวัดการสนับสนุนจากรัสเซียได้อย่างไร[114]

การวิพากษ์วิจารณ์

มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าทั้งเวลาและเงินที่ทุ่มลงไปในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ สมควรนำไปใช้ในโครงการอื่นมากกว่า อาจจะเป็นยานอวกาศที่ควบคุมด้วยหุ่นยนต์ การสำรวจอวกาศ การสืบสวนปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับโลก หรือกระทั่งเห็นว่าควรเก็บเงินภาษีไว้โดยไม่ใช้เลย[25][115] นักวิจารณ์บางคน เช่น โรเบิร์ต แอล. ปาร์ค เห็นว่าโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กที่วางแผนทำการทดลองบนสถานีอวกาศ หรือแม้แต่คุณสมบัติพื้นฐานของห้องทดลองในอวกาศดังเช่นการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) ก็สามารถทำการศึกษาได้บนยาน "Vomit Comet" ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก[25][116][117]

ความสามารถในการทำงานวิจัยของสถานีก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่ยกเลิกโมดูล Centrifuge Accommodations อันฟุ่มเฟือยไปพร้อมกับการยกเลิกอุปกรณ์ข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันจำกัดของการทดลองที่ไม่สามารถทำได้หากปราศจากเครื่องมือพิเศษ ตัวอย่างเช่น ในครึ่งแรกของปี 2007 งานวิจัยของสถานีอวกาศนานาชาติเกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางชีววิทยาของมนุษย์ที่มีต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอวกาศ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น kidney stones, circadian rhythm, และผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่อระบบประสาทของมนุษย์[118][119][120] ข้อวิจารณ์อื่นๆ เกี่ยวกับการออกแบบทางเทคนิคของสถานีอวกาศ รวมไปถึงความเอียงระนาบวงโคจรของตัวสถานีที่สูงมาก อันทำให้ค่าใช้จ่ายการส่งยานขึ้นไปสู่สถานีของสหรัฐอเมริกาสูงมาก[121]

ด้านการตอบสนองกับความเห็นเหล่านี้ ผู้สนับสนุนโครงการสำรวจอวกาศโดยใช้มนุษย์กล่าวว่าการวิจารณ์โครงการสถานีอวกาศเป็นการไม่รู้จักมองการณ์ไกล และว่าการสำรวจและวิจัยด้วยคนในอวกาศได้สร้างผลตอบแทนอย่างคุ้มค่านับพันล้านเหรียญ นาซาประเมินว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางอ้อมจากการสำรวจอวกาศด้วยมนุษย์มีคุณค่ามากกว่าเงินลงทุนสาธารณะเริ่มต้นหลายเท่า แม้ว่าการประเมินนี้มีสมมุติฐานจากโครงการอพอลโล และจัดทำขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970[122] มีรายงานซึ่งอ้างว่าเขียนโดยสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน โต้แย้งว่าอัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุนของนาซานั้นที่จริงแล้วต่ำมาก ยกเว้นเพียงงานด้านการบินเท่านั้นที่นำไปสู่การขายเครื่องอากาศยานได้[123]

แผนสิ้นสุดภารกิจและปลดจากวงโคจร

ตราบจนถึง ค.ศ. 2009 นาซามีแผนจะปลดสถานีอวกาศนานาชาติออกจากวงโคจรในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2016[124] ซึ่งสอดคล้องตามแผนนโยบายด้านการสำรวจอวกาศของประธานาธิบดีบุช (ในขณะนั้น) ต่อมาประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศนโยบายใหม่ด้านการสำรวจอวกาศเมื่อ ค.ศ. 2010 โดยให้ยืดระยะเวลาปฏิบัติภารกิจออกไปจนถึง ค.ศ. 2020[125]

องค์การอวกาศที่มีส่วนร่วมในสถานีอวกาศนานาชาติทั้ง 5 แห่ง ได้แสดงความเห็นพ้องกันว่าพวกเขาอยากให้สถานีอวกาศใช้งานได้เป็นเวลายาวนานกว่า ค.ศ. 2015 ยกเว้นองค์การอวกาศยุโรปซึ่งต้องแสวงมติเอกฉันท์จากชาติสมาชิกเพื่อการสนับสนุนทางการเงิน จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011[126][127][128] แถลงการณ์จากรัสเซียและประเทศสมาชิกสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อ ค.ศ. 2011 ระบุว่าจะต้องมีข้อตกลงเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่าโมดูลอื่นๆ จะสามารถใช้งานได้นานกว่า ค.ศ. 2015 จนถึงปัจจุบันนี้ประเทศสมาชิกยังคงเตรียมแผนปฏิบัติภารกิจไว้จนถึงปี 2015 เท่านั้น สำหรับระยะเวลาใช้งานใหม่ เนื่องจากโมดูลแรกของสถานีอวกาศจากรัสเซียได้นำส่งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1998 ดังนั้นจึงได้เลือกเวลาครบรอบ 30 ปีของโมดูลนั้นเพื่อเป็นเป้าหมาย[126]

ตามรายงานเมื่อปี 2009 RKK Energia เป็นกระบวนการที่กำลังพิจารณากันเพื่อนำโมดูลบางตัวของรัสเซียออกจากสถานีอวกาศในตอนสิ้นสุดภารกิจ เพื่อนำไปใช้ในสถานีแห่งใหม่ ที่รู้จักในชื่อ Orbital Piloted Assembly and Experiment Complex (OPSEK) โมดูลที่กำลังพิจารณากันว่าจะนำออกจากสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบันรวมไปถึง โมดูลห้องทดลองอเนกประสงค์ (MLM) ซึ่งมีแผนจะนำส่งขึ้นในตอนปลายปี 2011 กับโมดูลอื่นๆ ของรัสเซียที่ขณะนี้วางแผนเอาไว้จะติดตั้งไปกับ MLM จนถึงปี 2015 แม้ว่าจะยังไม่มีเงินทุนสนับสนุนในปัจจุบันก็ตาม ทั้งนี้เพราะทั้ง MLM หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ติดตั้งไปด้วยจะยังไม่สิ้นสุดอายุใช้งานในปี 2016 หรือ 2020 รายงานนี้นำเสนอข้อมูลจากวิศวกรรัสเซียผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้เอ่ยนาม ผู้เชื่อว่า ด้วยประสบการณ์จาก เมียร์ อายุใช้งาน 30 ปีนั้นเป็นไปได้ ยกเว้นเพียงความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ จากอุกกาบาต เนื่องจากโมดูลของรัสเซียนั้นสร้างขึ้นด้วยหลักการว่าสามารถซ่อมแซมปรับปรุงในวงโคจรได้[129]

ใกล้เคียง

สถานี สถานีกลางบางซื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถานีกรุงเทพ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) สถานีบางหว้า สถานีอวกาศนานาชาติ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถานีอวกาศนานาชาติ http://www.asc-csa.gc.ca/eng/iss/default.asp http://www.asc-csa.gc.ca/pdf/educator-liv_wor_iss.... http://ams.cern.ch/ http://www.adastrarocket.com/AdAstra-NASA_PR12Dec0... http://www.boeing.com/defense-space/space/spacesta... http://www.boeing.com/defense-space/space/spacesta... http://www.boeing.com/defense-space/space/spacesta... http://www.cnn.com/2007/TECH/space/10/16/china.spa... http://defensenews.com/blogs/space-symposium/2009/... http://www.heavens-above.com/issheight.aspx